
Cover Image by newidea.com.au, linkedin.com
ปิดฉากลงอย่างงดงาม สำหรับงานแข่งขันกีฬาระดับโลก Olympic Game ประจำปี 2024 เป็นปีที่มีเหตุการณ์สำคัญมากมาย รวมถึงสถิติโลกใหม่ ที่ถูกทำลายภายในการแข่ง อีกทั้งเฉลิมฉลองความสำเร็จของนักกีฬาชาวออสเตรเลีย ที่ปีนี้สามารถคว้าเหรียญรางวัลมาได้ทั้งหมดถึง 53 เหรียญ อยู่ในอันดับ 4 ของโลก นอกจากการร่วมแข่งขัน ประเทศออสเตรเลียยังเคยมีส่วนร่วมกับการเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิกในอดีตด้วยเช่นกัน
บทความนี้เราจะสรุป 5 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับโอลิมปิกที่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงเหตุการณ์น่าสนใจ ที่เกิดขึ้นกับนักกีฬาชาวออสเตรเลีย ภายในงานโอลิมปิกปารีสในปี 2024
ลำดับ 5 : ออสเตรเลียเคยเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิกฤดูร้อนทั้งหมด 2 ครั้ง

Image by slv.vic.gov.au
เมื่อปี 1956 เป็นครั้งแรกที่ประเทศออสเตรเลียได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก เกิดขึ้นที่เมืองเมลเบิร์น โดยที่เรียกกันว่า Melbourne 1956 อีกทั้งออสเตรเลีย ยังเป็นประเทศแรกของโลกนอกทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ที่ได้เป็นเจ้าภาพการจัด สิ่งที่น่าสนใจของการเป็นประเทศทางซีกโลกใต้ คือฤดูกาลที่แตกต่างจากประเทศส่วนใหญ่ทางซีกโลกเหนือ การแข่งขันกีฬาปี 1956 จึงไม่ได้จัดขึ้นในช่วงเวลาปกติของปี ซึ่งอยู่ในช่วงกลางปี แต่ไปจัดการแข่งขันในช่วงสิ้นปีแทน ซึ่งเป็นช่วงอากาศอบอุ่น ตรงกับฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน (ซึ่งตรงกับฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ) ทำให้ Melbourne 1956 คือโอลิมปิกฤดูร้อนที่เคยจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม
และต่อมาในปี 2000 ที่มหานครซิดนีย์ ออสเตรเลียได้เป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิกอีกครั้ง กับงานที่ชื่อว่า Sydney 2000 หรือ “Games of the New Millennium” นั่นเอง

Image by espn.com
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2000 ได้รับการยกย่องว่าเป็นการจัดโอลิมปิกที่ดีที่สุดอีกครั้งหนึ่งของโลก ได้รับคำชื่นชมโดยองค์กร อาสาสมัคร และสื่อหลายสำนัก ในด้านของการจัดการภายในงาน การนำเสนอเรื่องราว รวมไปถึงการเชิญชูความหลากหลาย โดยเฉพาะคนพื้นถิ่น หรืออะบอริจิน จนกลายเป็นต้นแบบของการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกที่ดีเยี่ยม ให้กับประเทศอื่นๆที่ต้องกลับไปทำการบ้านเพิ่ม และยังเป็นปีโอลิมปิกที่ยังถูกพูดถึงในปัจจุบัน
ลำดับ 4 : นักกีฬาออสเตรเลียที่ลงแข่งใน Paris 2024

Image by vogue.com.au
ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปารีส 2024 นี้ ออสเตรเลียได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันมากถึง 460 คน ใน 33 ประเภทกีฬา คาดว่าจะเป็นจำนวนที่มากที่สุดเป็นอันดับสาม ที่ออสเตรเลียเคยส่งไปแข่งขันในต่างประเทศ ตามหลัง Tokyo 2020 ที่ลงแข่ง 486 คน และ Athens 2004 มีนักกีฬาออสเตรเลีย 482 คน
โอลิมปิกที่ปารีส 2024 ทีมออสเตรเลียมากกว่าครึ่งจะมีตัวแทนเป็นผู้หญิง ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับปารีสปี 1924 เมื่อไม่มีผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งของทีมออสเตรเลีย

Arisa Trew นักสเก็ตบอร์ดวัย 14 ปี
Image by kidman.com.au
หากพูดถึงอายุของนักกีฬา Shane Rose คือนักกีฬา Equestrian (กีฬาขี่ม้า) ที่อายุมากที่สุดของทีมโอลิมปิกออสเตรเลีย ในอายุ 51 ปี ขณะที่นักสเก็ตบอร์ด Arisa Trew มีอายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียง 14 ปี ซึ่งได้คว้าเหรียญทองมาได้ครอง สร้างประวัติศาสตร์นักกีฬาทีมออสเตรเลียที่อายุน้อยที่สุด ที่ชนะเลิศการแข่งขันปีนี้
ยังมีนักกีฬาชาวพื้นเมือง 10 คน เป็นตัวแทนของออสเตรเลีย เช่น Patty Mills นักกีฬาโอลิมปิกชาวพื้นเมือง 5 สมัย คนแรก และ Conor Nicholas นักกีฬาเรือใบชาวพื้นเมืองคนแรกของออสเตรเลีย
ลำดับ 3 : ผลงานที่ยอดเยี่ยม & ยอดแย่

Image by codesports.com.au
หากมีคำถามว่า กีฬาประเภทไหนที่ออสเตรเลียคว้าเหรียญโอลิมปิกมาได้มากที่สุด คำตอบคือ ทีมว่ายน้ำออสเตรเลีย มีฟอร์มแข็งแกร่งมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งใน 2024 คว้าเหรียญมาได้ทั้งหมด 19 เหรียญ ซึ่งคว้าเหรียญทองได้มากที่สุดถึง 7 เหรียญ ถ้ารวมจำนวนเหรียญที่นักกีฬาว่ายน้ำออสเตรเลียคว้ามาได้ทั้งหมดจากการแข่งโอลิมปิก อยู่ที่ 230 เหรียญ! ชัยชนะที่ได้มาอย่างยาวนาน เกิดจากแรงผลักดันภายในประเทศ ทั้งด้านการเงิน วิทยาศาสตร์การกีฬา การให้ความสำคัญด้านสภาพร่างกายและจิตใจของนักกีฬา รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการกีฬา ที่ทำให้นักกีฬาว่ายน้ำแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ว่ายน้ำเป็นหนึ่งในกีฬาไม่กี่ประเภทที่ได้รับการสนับสนุนมากมาย รวมถึงแรงบันดาลใจจากนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ สร้างไว้ให้นักกีฬารุ่นใหม่เกิดแรงฮึกเฮิมในการคว้าชัยชนะกลับมา
ส่วนผลงานยอดแย่ คงไม่ได้พูดถึงการแข่งขัน แต่เป็นเรื่องผิดกฎหมายที่เกิด สำหรับ Tom Craig นักฮอกกี้น้ำแข็งชาวออสเตรเลีย ที่ถูกห้ามเข้าร่วมพิธีปิด หลังจากถูกจับกุมโดยตำรวจปารีส ฐานพยายามซื้อโคเคนในเมืองหลวงของฝรั่งเศส เพื่อคลายเครียดหลังจบการแข่งขัน จากการตกรอบก่อนรองชนะเลิศของปารีสเกมส์ ซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่สุดสำหรับวงการโอลิมปิก แม้ว่าจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา
ลำดับ 2 : วัฒนธรรมกาแฟออสเตรเลีย ที่ไหนก็แทนที่ไม่ได้

Image by sabuzak Kim from Pixabay
รู้หรือไม่ว่า ในงานโอลิมปิกปีนี้ นอกจากจะมีนักกีฬาและทีมงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในการแข่งขันแล้ว ยังมีบาริสต้าชาวออสซี่ทั้งหมดสามคน ถูกส่งตัวไปยังหมู่บ้านนักกีฬา เพื่อทำการชงกาแฟสำหรับทีมออสเตรเลียโดยเฉพาะ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายให้กับนักกีฬา เมื่อได้มาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ซึ่งแผนการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่โอลิมปิกโตเกียว 2020 สร้างความประทับใจให้กับนักกีฬาออสซี่เป็นอย่างมาก (หรือสไตล์กาแฟของฝรั่งเศส ที่ชาวออสเตรเลียอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไหร่)
ลำดับ 1 : มีม (Meme) มากมายที่เกิดขึ้นในโอลิมปิก

Image by telegraphindia.com
หากพูดถึงภาพจำนักกีฬาในโอลิมปิกปีนี้ เรียกได้ว่ามีมากมาย ในหลายประเภทกีฬา โดยเฉพาะท่าอันเป็นเอกลักษณ์ของนักกีฬายิงปืนอัดลม Kim Yeji จากประเทศเกาหลีและ Yusuf Dikec จาก ตุรกี รวมไปถึงภาพนักกีฬาเซิร์ฟ Gabriel Medina จากบราซิล ลอยอยู่กลางอากาศพร้อมชูมือ ในมุมที่คล้ายกับว่ายืนอยู่บนเมฆ ที่ถ่ายภาพโดยนักภาพชาวฝรั่งเศส นับเป็น Iconic Moment ที่เกิดขึ้นในการแข่งโอลิมปิก

Image by news.com.au
ส่วนฝั่งออสเตรเลียของเรา ปีนี้ก็สร้างกระแสเหมือนกัน กับกีฬา Breakdance ที่ส่งนักกีฬาชาวออสซี่ “Raygunn” กับลุ๊คการแต่งตัวด้วยชุดวอร์ม คล้ายกับนักเรียนพละฯ กับเต้นท่าจิงโจ้ ที่สร้างเสียงฮือฮา แต่เมื่อเทียบทักษะการเต้นของเธอ กับนักเต้นเบรคแด๊นซ์คนอื่นๆ เรียกได้ว่ายังไม่ผ่าน แข่งทั้งหมด 3 ครั้งกับสหรัฐฯ, ฝรั่งเศสและ ลิทัวเนีย เธอแพ้ราบคาบ 18-0,18-0,18-0 จนเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า เหตุใดเธอถึงได้รับโอกาสเข้าไปแข่งในระดับโอลิมปิก เมื่อเทียบกับนักเต้นมืออาชีพคนอื่นๆ เธอถือว่าเป็นมือสมัครเล่นเสียมากกว่า
เธอคนนี้ชื่อ Rachael Gunn อาชีพที่แท้จริงคือนักศึกษาป.เอก อายุ 36 ปี ที่มีใจรักด้านการเต้นมาอย่างยาวนาน เธอคนนี้ชนะการประกวดมาอย่างมากมายไม่ใช่แค่เบรคแด๊นซ์ แต่การเพียงแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้ ทักษะของเธอยังอาจไม่เพียงพอต่อคณะกรรมการ ต้องรอดูไปกับโอลิมปิกครั้งหน้า เธอจะกลับแก้ตัวอีกครั้งหรือไม่
แม้ว่าการแข่งขันจะจบไปแล้ว แต่เธอก็กลับถูกพูดถึงอยู่ไม่ขาดสาย อีกทั้งยังถูกเชิญไปสัมภาษณ์ในสื่อต่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีอินฟลูฯต่างประเทศหลายคน ต่างล้อเลียนท่าเต้นจิงโจ้ของเธอด้วยเช่นกัน
**แถมพิเศษ เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับ Paris 2024**

Image by @sportstarweb on x.com
ธรรมเนียม การเคาะพื้นด้วยไม้ 3 ครั้งก่อนเริ่มการแข่ง
ใครที่รับชมการแข่งขันกีฬาตั้งแต่ช่วงเริ่ม จะมีการเคาะไม้ที่พื้น 3 ครั้งก่อนเริ่มการแข่งขัน นี่คือธรรมเนียมท้องถิ่นของชาวฝรั่งเศส ก่อนที่จะเริ่มแสดงโชว์ในโรงละคร เพื่อเป็นการให้สัญญาณแก่ผู้ชมว่า การแสดงกำลังจะเริ่มต้นขึ้นเพื่อดึงความสนใจ โดยพิธีกรรมนี้มีชื่อว่า ”Les Trois Coups” ในภาษาฝรั่งเศส
ซึ่งมีนักกีฬาไทย "ซาร่า" นุศรา ต้อมคำ ได้รับเชิญเข้าไปเคาะไม้ก่อนแข่งขัน รวมถึง Snoop Dogg เจ้าพ่อแรปเปอร์จากฝั่งสหรัฐฯ ก็ได้รับเกียรติให้เคาะเพื่อเริ่มการแข่ง Breakdance เช่นกัน

Image by bells.org
ธรรมเนียมท้องถิ่นไม่ได้มีแค่นี้ แต่ยังมีการเคาะระฆังหลังจบการแข่งขันกรีฑา ซึ่งผู้ชนะเลิศเหรียญทองในการแข่งขันกรีฑาทุกคน จะได้รับโอกาสตีระฆังซึ่งตั้งอยู่ข้างสนามที่สนามกีฬา Stade de France เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันรู้สึกเป็นเกียรติ และมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศสมากขึ้น เพราะระฆังนี้ จะถูกนำไปติดตั้งยังอาสนวิหาร Notre Dame ที่กำลังอยู่ในช่วงการรีโนเวท หลังจากเกิดเพลิงไหม้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

Image by fattiretours.com
โอลิมปิกที่รักสิ่งแวดล้อม
การจัดโอลิมปิกปารีสครั้งนี้ ขึ้นชื่อว่าเป็นการจัดงานแข่งกีฬาที่รักษ์โลกมากที่สุด ตั้งแต่การเลือกใช้สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในเมือง มาจัดการแข่งขัน เพื่อลดการสร้างอาคารและสนามกีฬาใหม่, ใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน, มีการเพิ่มจักรยานไฟฟ้าภายในหมู่บ้านนักกีฬา และเส้นทางการปั่นให้มากขึ้น, การจัดการทรัพยากร และการแยกขยะอย่างจริงจัง แม้ว่าจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีและไม่ดีตามมา แต่อย่างไรก็ดี นี่คือแบบอย่างของการจัดงานกีฬาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาดูกันอีก 4 ปีข้างหน้า โอลิมปิกที่เมืองลอสแองเจลลิส หรือ LA 2028 จะมีแนวทางการจัดงานอย่างไร
และในปี 2032 บริสเบนจะได้เป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิก นับเป็นครั้งที่สามที่ออสเตรเลียได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิกอีกครั้ง หน้าตาของอนาคตจะเป็นอย่างไร ติดตามกันต่อไป
อ้างถึง
en.wikipedia.org/wiki/1956_Summer_Olympics
en.wikipedia.org/wiki/Australia_at_the_Olympics
olympics.com
www.abc.net.au
www.usatoday.com
www.theguardian.com
www.eurosport.com
news.csu.edu.au