ออสเตรเลีย จุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับผู้ที่ต้องการอาศัยและทำงานในประเทศที่มีความหลากหลายทั้งผู้คนและวัฒนธรรม หลายครั้งที่ได้พูดคุยกับคนไทย หรือแม้แต่เพื่อนต่างชาติ ที่มาอยู่ออสเตรเลียเป็นเวลานานๆ หลายคนต่างมีเป้าหมายคล้ายกัน ที่จะยื่นขอ “PR” หรือการอยู่อาศัยถาวร เพราะออสเตรเลียมอบสิทธิประโยชน์มากมายในการใช้ชีวิต สิทธิขั้นพื้นฐาน และความเป็นพลเมือง อย่างไรก็ตาม การขอวีซ่าถาวรไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ในบทความนี้ เราจะอธิบายว่าวีซ่าถาวรคืออะไร ทำไมการขอวีซ่าประเภทนี้ ถึงเป็นที่ต้องการของคนมากมาย


วีซ่าถาวร หรือ Permanent Residence Visa (PR) คืออะไร?

Photo by Chris Fuller on Unsplash

วีซ่าถาวร เป็นวีซ่าประเภทหนึ่งที่อนุญาตให้คุณอยู่ในออสเตรเลียได้อย่างไม่มีกำหนด ต่างจากวีซ่าชั่วคราวซึ่งมีวันหมดอายุและอาจมีเงื่อนไขแนบมาด้วย วีซ่าถาวรให้สิทธิ์คุณในการอยู่อาศัย ทำงาน เรียน และเดินทางในออสเตรเลียโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ อย่างไรก็ตาม วีซ่าถาวรไม่ได้ทำให้คุณเป็นพลเมืองออสเตรเลีย คุณจะต้องยื่นขอสัญชาติหากคุณต้องการได้รับสิทธิและความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ในการเป็นชาวออสเตรเลีย การได้รับสถานะ PR ในออสเตรเลีย มาพร้อมกับสิทธิหลากหลายประการ ได้แก่

ทำงานและใช้ชีวิตอย่างถาวร
ด้วยวีซ่า PR คุณสามารถอาศัยและทำงานในออสเตรเลียได้อย่างไม่มีกำหนด ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ดึงดูดผู้คนที่หลงรักประเทศนี้สนใจสมัคร วีซ่าถาวรยังมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางซึ่งมีอายุการใช้งาน 5 ปีนับจากวันที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งหมายความว่าคุณสามารถออกและกลับเข้าออสเตรเลียได้บ่อยเท่าที่คุณต้องการ ภายในระยะเวลาดังกล่าว

การเข้าถึงประกันสังคม
คุณสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ประกันสังคม หรือที่เรียกกัน Medicare เป็นโครงการดูแลสุขภาพสากลของรัฐบาลออสเตรเลีย สามารถเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐได้ฟรี หรือได้รับเงินอุดหนุน เช่นเดียวกับสิทธิประโยชน์อื่นๆ มากมาย รวมถึงเงินบำนาญอายุ และการสนับสนุนทางการเงิน แก่ผู้ที่ไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากอายุหรือความทุพพลภาพ

การศึกษา
คุณสามารถลงทะเบียนในโปรแกรมการศึกษาในออสเตรเลียได้ ซึ่งมีสิทธิ์ได้รับค่าเล่าเรียนที่ต่ำกว่านักศึกษาต่างชาติอย่างมาก เหมาะสำหรับใครที่อยากศึกษาต่อในชั้นอุดมศึกษา ซึ่งเป็นอย่างที่เราทราบกันดีกว่าที่นี่ได้รวมมหาวิทยาลัยขั้นนำ ติดอันดับระดับโลกมากมาย

สมาชิกในครอบครัวที่อุปถัมภ์
ในฐานะผู้ถือ PR คุณสามารถอุปถัมภ์สมาชิกในครอบครัวและบุตรหลาน มีสิทธิ์มาอยู่ออสเตรเลียได้

เส้นทางสู่ความเป็นพลเมืองในอนาคต
หลัง 4 ปีของการถือ PR คุณมีสิทธิ์ยื่นขอสัญชาติออสเตรเลียได้ สิ่งนี้ทำให้ได้รับสิทธิและสิทธิพิเศษทั้งหมดของพลเมืองออสเตรเลีย รวมถึงสิทธิในการลงคะแนนเสียงและสามารถทำงานในระบบราชการได้



แต่อย่างไรก็ตามวีซ่า PR ก็ยังไม่เทียบเท่ากับพลเมือง หรือ Citizenship ตัวอย่างเช่น การโหวตเลือกตั้ง พลเมืองออสเตรเลียสามารถเลือกผู้นำผู้แทนประเทศได้ แต่ PR ไม่สามารถทำได้* (*แต่ผู้ถือวีซ่า PR ในบางสัญชาติ สามารถเลือกตั้งได้) รวมถึงสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง ทางกงสุลจากรัฐบาลออสเตรเลียเมื่ออยู่ต่างประเทศ และการดำรงตำแหน่งทางราชการ เป็นต้น



ปูเส้นทางชีวิต สู่การขอ PR

Photo by ThisisEngineering RAEng on Unsplash

มีหลายวิธีในการได้มาซึ่งวีซ่าพำนักถาวรของออสเตรเลีย หนึ่งในเส้นทางนิยมและพูดถึงมากที่สุดเพื่อการขอ PR และ Citizenship ในขั้นตอนถัดไป นั่นคือ การถือวีซ่าทักษะทำงาน (Skilled Migration) โดยวีซ่าประเภทนี้ แบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ ที่นิยมขอกัน นั่นคือ วีซ่าทักษะอาชีพที่ประเทศต้องการ กับ วีซ่าทักษะอาชีพที่นายจ้างต้องการ มาดูกันว่ามีเงื่อนไขแตกต่างกันอย่างไร


ประเภท Skilled Migration (Point-based)

คือการยื่นขอวีซ่าจากทักษะ ความสามารถ ประสบการณ์การทำงานของตัวเอง และเป็นสายงานที่ต้องการของรัฐบาลออสเตรเลียเป็นอย่างยิ่ง โดยใช้ระบบคะแนนเพื่อผ่านการคัดกรอง แบบไม่มีใครสปอนเซอร์ ถ้าผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำก็มีสิทธิ์ยื่นเรื่องต่อได้ ซึ่งวีซ่าที่อยู่ภายใต้ประเภทนี้ ที่นิยมขอกันคือ Skilled Independent Visa (Subclass 189) และ Skilled Nominated Visa (Subclass 190) โดยหัวข้อที่คัดเลือก มีได้แก่

  • อายุ : โดยทั่วไปต้องไม่เกิน 45 ปี หรือถูกเชิญมาให้สมัครมาเป็นกรณีพิเศษ
  • สาขาที่เรียนจบ และ ประสบการณ์ทำงาน : ต้องอยู่ในลิสต์รายการ Medium and Long-term Strategic Skills List (MLTSSL) หรือ Short-term Skilled Occupation List (STSOL) ที่รัฐบาลกำหนด*

*ข้อมูลอ้างอิงสำหรับ MLTSSL และ STSOL https://immi.homeaffairs.gov.au/visas/working-in-australia/skill-occupation-list

  • ผลภาษาอังกฤษ : IELTS หรือสอบวัดระดับ PTE
  • ผ่านการตรวจสอบประวัติอื่นๆ เช่น สุขภาพ,ประวัติอาชญากรรม ฯลฯ

จึงเป็นเหตุผล ที่ชาวต่างชาติรวมถึงคนไทยเลือกมาศึกษาต่อในสายงานที่ประเทศกำลังต้องการ อันได้แก่ ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี, การแพทย์และพยาบาล,​ อาหารและครัว, โรงแรมและบริการ ฯลฯ ซึ่งเมื่อเรียนจบแล้วก็สามารถยื่นเรื่องขอวีซ่าประเภทนี้ด้วยตัวเอง หรือจะทำงานในบริษัทที่นายจ้างสามารถสปอนเซอร์ต่อได้ ซึ่งจะเป็นวีซ่าประเภทถัดไป


Photo by Josh Olalde on Unsplash


ประเภท Skilled Migration (Employer Nomination) หรือ Employer Nomination Scheme (ENS)

จะเรียกว่าวีซ่าแรงงานฝีมือดีก็ว่าได้ เป็นรูปแบบที่คุณต้องเป็นคนที่ได้รับการเสนอชื่อโดยนายจ้างชาวออสเตรเลีย ให้ดำรงตำแหน่งที่มีทักษะเฉพาะ ซึ่งคนออสเตรเลียคนอื่นไม่สามารถทำงานเหมือนคุณได้ วีซ่าประเภทนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถและการสปอนเซอร์นายจ้างล้วนๆ เพื่อแสดงออกให้เห็นว่าคุณคือพนักงานที่มีทักษะและประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับนายจ้าง ข้อดีคือผู้ยื่นไม่ต้องผ่านระบบคะแนน เหมือนประเภทแรก แต่จำเป็นต้องผ่านคุณสมบัติดังต่อไปนี้


  • ถูกเสนอชื่อจากนายจ้างชาวออสเตรเลียที่มีคุณสมบัติเหมาะสม : นายจ้างต้องจ้างคุณเต็มเวลาและดำรงสายงานในลิสต์รายการ Medium and Long-term Strategic Skills List (MLTSSL) หรือ Short-term Skilled Occupation List (STSOL) ที่รัฐบาลกำหนด*

*ข้อมูลอ้างอิงสำหรับ MLTSSL และ STSOL https://immi.homeaffairs.gov.au/visas/working-in-australia/skill-occupation-list

  • ผ่านการประเมินทักษะ กับหน่วยงานรับรองที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ที่ทำงานสาย IT หรือนักบัญชี จำเป็นต้องทำ Skill Assessment และในบางสายอาชีพต้องได้รับวุฒิสูงกว่า Diploma หรือไม่ดูวุฒิเลย แต่เป็นต้น
  • ผลภาษาอังกฤษ : IELTS หรือสอบวัดระดับ PTE
  • ผ่านการตรวจสอบประวัติอื่นๆ เช่น สุขภาพ,ประวัติอาชญากรรม ฯลฯ

ขึ้นชื่อว่าผ่านนายจ้าง แน่นอนว่าคุณต้องผ่านการทำงานด้วยกัน หรือรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน ไม่ว่าจะด้วยวีซ่านักเรียน (ทำงานไประหว่างเรียน), วีซ่าพำนักชั่วคราวหลังเรียนจบ หรือ Temporary Graduate visa (subclass 485 ที่สามารถทำงานได้เต็มที่หลังจบการศึกษา หรือถ้าโชคดีมากๆ มีโอกาสได้วีซ่าทำงาน หรือ Working Visa (subclass 457) มาก่อนจากนายจ้าง และยื่นเรื่องต่อเพื่อขอ PR ก็ได้เหมือนกัน


Photo by Mimi Thian on Unsplash


เส้นทางยอดนิยมของคนไทยหลายคน เริ่มต้นจากการลงเรียนภาษา เพื่อทำงานหาประสบการณ์ ต่อมาลงเรียนในวุฒิการศึกษาเฉพาะ ไม่ว่าจะไต่ระดับจาก Certificate, Diploma จนถึงระดับมหาลัยฯ โดยเรียนให้ตรงกับสายอาชีพ พร้อมทำงานควบคู่ไปด้วยกัน เมื่อทำงานมาด้วยกันยาวนานและได้พูดคุยตกลงกับนายจ้างแล้ว คุณก็มีพร้อมทั้งทักษะฝีมือ ประสบการณ์ และวุฒิการศึกษาที่ตรงกับสายงาน ก็ทำให้เส้นทางการขอ PR ก็ชัดเจนยิ่งขึ้น

หากมีแค่การวางแผนระยะยาวและเงินทุน เพียงสองอย่างอาจไม่เพียงพอที่จะได้มาซึ่ง PR แต่คุณต้องมีทักษะเฉพาะเจาะจงและโดดเด่น ที่ประเทศต้องการหรือนายจ้างต้องการ จึงจะสามารถอยู่ในออสเตรเลียได้ในระยะยาว


Photo by William Rouse on Unsplash

และยังมีวีซ่าประเภทอื่นๆที่สามารถทำเรื่องอยู่ถาวรได้ เช่นการถือวีซ่าคู่ครอง หากได้คบหาดูใจและพักอยู่ร่วมกันกับชาวออสเตรเลีย ที่เป็นพลเมืองหรือถือวีซ่า PR อยู่ เราเองก็สามารถขอ Partner Visa ได้ ไม่ว่าจะในฐานะคู่หมั้นหรือคู่สมรส หรือจะวีซ่านักลงทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในวีซ่าที่สามารถอยู่ในออสเตรเลียได้ระยะยาว


เส้นทาง PR แต่ละเส้นทางอาจมีข้อกำหนดเฉพาะ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและทำความเข้าใจเกณฑ์วีซ่าเฉพาะเจาะจงที่สมัคร ง่ายที่สุดคือการปรึกษาทนายผู้เชี่ยวชาญ หรือปรึกษาตัวแทนด้านการย้ายถิ่นฐาน เพราจะช่วยวางแผนเส้นทาง รวมไปถึงอัพเดทกฎและเงื่อนไขการสมัครในแต่ละปี เพื่อให้ขั้นตอนในการดำเนินการราบรื่นยิ่งขึ้น


อ้างถึง
https://liveinmelbourne.vic.gov.au
https://immi.homeaffairs.gov.au/visas/permanent-resident/visa-options
www.aussizzgroup.com
www.hotcourses.in.th