tbb-may-2025-cover.001.jpeg

ในยุคที่โลกเปิดกว้างมากขึ้น การทำงานในต่างประเทศได้กลายเป็นทางเลือกที่หลายคนให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศออสเตรเลีย ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพชีวิต การคุ้มครองแรงงาน และโอกาสในการพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน หลายคนที่เคยมีประสบการณ์ทำงานทั้งในประเทศไทยและออสเตรเลียต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ชีวิตการทำงานที่ออสเตรเลียนั้นแตกต่างและดีกว่า” บทความนี้จะพาไปสำรวจว่า เหตุใดการทำงานในออสเตรเลียจึงได้รับความนิยม และข้อดีต่างๆ ที่ทำให้การใช้ชีวิตและทำงานในแดนจิงโจ้น่าสนใจกว่าประเทศบ้านเกิดอย่างไร


ค่าแรงขั้นต่ำสูงอันดับต้นๆของโลก

01.jpg

Photo by Melissa Walker Horn on Unsplash 

      ออสเตรเลียมีรายได้แรงงานเฉลี่ยสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมาก โดยข้อมูล OECD หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา จากบทความวิจัยในปี 2023 ระบุว่าค่าแรงเฉลี่ยต่อปีของออสเตรเลียอยู่ที่ประมาณ 67,100 เหรียญสหรัฐ  ขณะที่ประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มรายได้ระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ค่าจ้างรายชั่วโมงของออสเตรเลียสูงกว่าประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ  ค่าแรงเหล่านี้เป็นค่าเฉลี่ยทั่วทั้งประเทศและอาจแตกต่างตามอาชีพและประสบการณ์

 

สวัสดิการที่ดีและให้ความสำคัญของ Work-Life Balance 

02.jpg

Photo by Natalya Zaritskaya on Unsplash 

      ประเทศออสเตรเลียมักถูกจัดอันดับสูงในด้าน Work-Life Balance ซึ่งมีนโยบายและวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการพักผ่อนและครอบครัว เช่น การลาพักร้อนและสวัสดิการครอบครัวที่ดี, วันหยุดทางศาสนา, และโอกาสลาฉุกเฉิน รวมถึงชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ไม่สูงมาก และคนออสเตรเลียใช้เวลากับกิจกรรมส่วนตัวและสันทนาการมากถึง 14.4 ชม./วัน ชีวิตส่วนตัวที่สมดุล แถมยังมีรายได้สูงและระบบสังคมที่เข้มแข็ง เช่น บริการดูแลเด็กและการเรียนฟรีของรัฐส่วนหนึ่ง ทั้งหมดนี้ รัฐบาลออสเตรเลียให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตนอกงานค่อนข้างมาก ส่วนไทยนั้น แม้จะมีสวัสดิการครอบครัวบางอย่าง เช่น เงินช่วยเหลือลูกเล็กจากรัฐ, กฎหมายแม่ทำงาน แต่โดยรวมการทำงานเกินเวลาและโครงสร้างสังคมที่ให้ความสำคัญกับงานหนัก อาจทำให้สมดุลชีวิต-งานต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้ว

มากไปกว่านั้น ออสเตรเลียยังมีระบบสวัสดิการแรงงานที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ กับระบบสาธารณสุขแห่งชาติ (Medicare) สำหรับชาวออสเตรเลียและผู้ถือวีซ่าบางประเภท (เช่น PR) ทำให้ได้รับการรักษาพยาบาลฟรีหรือค่าใช้จ่ายต่ำ นอกจากนี้นายจ้างมักมีประกันสุขภาพเพิ่มเติม (สำหรับพนักงาน) รวมทั้งแรงงานยังได้รับสิทธิ์ ลาพักร้อน 4 สัปดาห์ต่อปี (20 วันทำการ) และ ลาป่วยอย่างน้อย 10 วันต่อปี โดยยังมีวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ ให้ด้วย สวัสดิการครอบครัว ได้แก่ ลาคลอด 18 สัปดาห์ (ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำโดยรัฐบาล) และลาบุตร (อีก 2 สัปดาห์สำหรับบิดา) ออสเตรเลียยังมีระบบประกันสังคมและเงินว่างงานค่อนข้างครอบคลุมให้ผู้ว่างงานบ้าง 


ในทางกลับกัน ประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งครอบคลุมประชากรทุกคนฟรี แต่สิทธิ์นี้จำกัดเฉพาะคนไทยที่อยู่ในระบบ (คนต่างชาติต้องพึ่งประกันเอกชน) และระบบประกันสังคมไทยครอบคลุมเฉพาะแรงงานในระบบเท่านั้น รวมถึงสวัสดิการวันลา ไทยกำหนดวันลาพักร้อนขั้นต่ำ 6 วันต่อปีและลาป่วย 90 วัน รวมจ่ายสูงสุดเพียง 50% ของค่าจ้างจริงใน 90 วันแรก และลาคลอดรวม 90 วัน ซึ่งน้อยกว่าออสเตรเลียมาก ในภาพรวม ออสเตรเลียจึงได้เปรียบด้านสวัสดิการพื้นฐานทั้งสุขภาพและค่าจ้างขณะลามากกว่าไทยและเทียบเท่า หรือสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่

 

สังคมการทำงานที่ทุกคนเท่าเทียมและมีความหลากหลาย 

03.jpg

Photo by Helena Lopes on Unsplash 

      ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก โดยมากกว่า 30% ของประชากรเกิดในต่างประเทศ และกว่า 300 ภาษาใช้พูดในครัวเรือนทั่วประเทศ ความหลากหลายนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในสังคมเท่านั้น แต่ยังฝังรากอยู่ในองค์กรและสถานที่ทำงานทั่วออสเตรเลียด้วย โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา "Diversity & Inclusion" กลายเป็นแนวคิดสำคัญที่ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ส่งผลให้วัฒนธรรมการทำงานของออสเตรเลีย ให้ความสำคัญกับเสมอภาคและเป็นกันเอง เช่น ผู้จัดการที่เข้าถึงง่ายกว่า พนักงานที่สามารถแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้ยังเป็นสังคมที่หลากหลายเชื้อชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษ จึงเอื้อต่อคนต่างชาติในการทำงานร่วมด้วย สภาพแวดล้อมในสำนักงานโดยรวมจะเรียบง่าย ไม่มีลำดับชั้นมากเท่าไทย ส่วนในประเทศไทย วัฒนธรรมองค์กรมีลักษณะลำดับขั้น พนักงานจะให้ความเคารพผู้บังคับบัญชา และมีพิธีรีตองทางสังคมในที่ทำงาน เช่น การทักทายผู้ใหญ่ต้องไหว้ เป็นต้น นอกจากนี้ การสื่อสารแบบไทยมักหลีกเลี่ยงการขัดแย้ง ซึ่งต่างจากชาวออสซี่ที่ตรงไปตรงมา แม้การทำงานในไทยจะเป็นระเบียบแบบแผนและมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดแบบครอบครัว แต่ก็อาจทำให้การเปลี่ยนแปลงหรือข้อเสนอใหม่ ๆ ดำเนินการได้ช้ากว่า เพราะมีคำว่าเกรงใจ มากกว่า

นอกจากสังคมการทำงานที่เปิดรับแล้ว รัฐบาลออสเตรเลียมีบทบาทในการส่งเสริมความเท่าเทียมในที่ทำงานผ่านกฎหมายหลายฉบับ เช่น ระบบกฎหมายคุ้มครองแรงงาน (Fair Work Act) ที่มั่นคง พร้อมเงินว่างงานและประกันสังคมสำหรับผู้ว่างงานในระดับหนึ่ง หรือกฎหมายที่ห้ามการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเพศสภาพ สถานภาพสมรส (Sex Discrimination Act) อีกทั้งยังมี หน่วยงานอย่าง Australian Human Rights Commission (AHRC) ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ และส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่ครอบคลุมมากขึ้น ในหลายบริษัทในออสเตรเลีย เช่น Telstra, Qantas, ANZ Bank และ Deloitte Australia ได้ลงทุนในนโยบายด้าน Diversity & Inclusion อย่างจริงจัง เช่น มี โปรแกรมสนับสนุนพนักงาน LGBTQ+ ,นโยบายจ้างงานคนพิการ, นโยบายส่งเสริมความเท่าเทียมด้านค่าจ้างทั้งชายหญิง ฯลฯ

 

โอกาสการทำงานสำหรับสายอาชีพขาดแคลน

04.jpg

Photo by Tekton on Unsplash 

      ณ ปี 2025 ประเทศออสเตรเลียยังคงเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานจำนวนมาก แต่ความต้องการแรงงานที่มีทักษะเฉพาะยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  สำหรับแรงงานต่างชาติที่มีทักษะเฉพาะในสาขาที่ขาดแคลน ออสเตรเลียยังคงเป็นประเทศที่มีโอกาสในการทำงานสูง โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยี การดูแลสุขภาพ และการก่อสร้าง โดยเฉพาะในภาคการก่อสร้าง มีการคาดการณ์ว่าจำเป็นต้องมีแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 500,000 คนภายในปี 2029 เพื่อให้สามารถสร้างบ้านใหม่ตามเป้าหมายของรัฐบาล ปัจจุบันรัฐบาลออสเตรเลียได้ดำเนินการปรับปรุงระบบวีซ่าและเพิ่มการยอมรับคุณวุฒิจากต่างประเทศ เพื่อดึงดูดแรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศ การเตรียมตัวที่ดี เช่น การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับระบบวีซ่า การเตรียมวุฒิการศึกษาของคุณ และการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานในออสเตรเลีย หากคุณมีทักษะที่ดีเยี่ยมประเทศต้องการล่ะก็ โอกาสในการหางานออสเตรเลียก็เป็นไปได้ ไม่มากก็น้อย

 

วีซ่าที่เปิดโอกาสให้คนไทยมาทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย

05.jpg 

Photo by Matthias Mitterlehner on Unsplash 

      หนึ่งในวีซ่าที่คนไทยให้ความสนใจ นั่นคือวีซ่า Work and Holiday (subclass 462) เป็นประเภทวีซ่าที่รัฐบาลออสเตรเลียออกแบบมาเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนจากบางประเทศรวมถึงประเทศไทย สามารถเดินทางไปพักผ่อนและท่องเที่ยวในออสเตรเลีย พร้อมมีสิทธิ์ในการทำงานแบบถูกกฎหมายระหว่างอยู่ในประเทศได้สูงสุดถึง 12 เดือน ซึ่งในแต่ก็ปี ก็มีการปรับเงื่อนไขการทำงานรองรับการตลาดแรงงาน อย่างเช่นหากคุณทำงานในภาคเกษตร หรือทำงานพื้นที่ที่รัฐบาลกำหนด (ส่วนใหญ่ตาม Regional Area) ตามระยะเวลาที่กำหนด ก็สามารถขอวีซ่าฉบับที่สองหรือสามเพื่ออยู่ต่อได้อีกปี วีซ่า Work and Holiday จึงเป็นทางเลือกที่ยอดเยี่ยม สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่อยากเปิดโลกกว้าง เพราะได้ทั้งประสบการณ์ทำงาน ฝึกภาษา และท่องเที่ยวในออสเตรเลียอย่างถูกกฎหมาย หากเตรียมตัวและเอกสารให้พร้อม โอกาสนี้ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

 

สรุปแล้วการทำงานในออสเตรเลียมีข้อได้เปรียบ ตั้งแต่ด้านรายได้ ระบบแรงงานที่เข้มแข็ง และวัฒนธรรมการทำงานที่ให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อท้าทายเช่น ค่าครองชีพสูง ความไม่มั่นคงของวีซ่า และความจำเป็นในการปรับตัวทางภาษาและวัฒนธรรม ส่วนการทำงานในไทยเหมาะกับผู้ที่ให้ความสำคัญกับความสะดวก ความคุ้นเคย และการใช้ชีวิตแบบประหยัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเป้าหมายส่วนบุคคลของแต่ละคน ว่าจะเลือกแบบใดที่ตอบโจทย์ชีวิตของคุณ

 

ที่มา
oecdbetterlifeindex.org
oecd.org
fwc.gov.au