เมื่อเริ่มย้ายตัวเองออกจากบ้านเกิด มายังประเทศที่อยู่อีกซีกหนึ่งของโลกอย่างออสเตรเลีย อาจทำให้เกิดอาการช็อกทางวัฒนธรรม หรือที่เรียกกันว่า“Culture Shock” ได้ แม้ว่าจะอยู่มานาน หลายคนประสบกับความรู้สึกคิดถึงบ้านหรือเหงา เมื่อต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ อาการนี้เป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะในช่วงแรก ที่ต้องเผชิญกับความแตกต่างที่ไม่ใช่แค่สภาพแวดล้อม แต่ทั้งในเรื่องของบรรทัดฐานทางสังคม รูปแบบการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีอุปสรรคด้านภาษา อาจทำให้เกิดความกังวล ก่อเกิดเป็นความเครียดได้โดยไม่รู้ตัว

เริ่มต้นจากสิ่งที่อาจทำให้คนไทยรู้สึกถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมในออสเตรเลีย โดยแบ่งตามหัวข้อต่อไปนี้


1.การพูดคุยสื่อสาร



Photo by Christina @ wocintechchat.com on Unsplash

ชาวออสเตรเลียมักสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นและได้รับการปรึกษา โดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งหรือลำดับชั้น ขณะที่ในไทยยังคงมีลำดับชั้นที่ชัดเจน ผู้มีอำนาจมักได้รับความเคารพ และการตัดสินใจมักมาจากบนลงล่าง ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นความเถรตรงเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมไทยที่นิยมใช้การสื่อสารแบบอ้อม ๆ ความแตกต่างนี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความรู้สึกอึดอัดได้ หากคนที่ไม่คุ้นชินกับการพูดคุยแบบนี้

การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในออสเตรเลีย มักเป็นไปอย่างไม่เป็นทางการ เช่น การเรียกชื่อจริงและการทักทายอย่างเป็นกันเอง สิ่งนี้อาจทำให้คนไทยที่คุ้นชินกับวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับความสุภาพ รู้สึกไม่คุ้นเคยหรือสับสน ซึ่งอย่างที่เรามักเรียกพี่/น้อง เพื่อแสดงออกถึงความเคารพ ซึ่งก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไปตามสภาพสังคม


2. โครงสร้างสังคมและแนวคิดเรื่องปัจเจกนิยม

ออสเตรเลียให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจก หรือเรียกได้ว่าค่อนข้างพึ่งพาตัวเอง มากกว่าสังคมแบบรวมกลุ่มของไทย การเปลี่ยนแปลงนี้อาจทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวหรือวิตกกังวลในช่วงแรกของการปรับตัว ขณะที่ไทยเป็นสังคมซึ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มคนและชุมชน มากกว่าการแยกตัวอย่างโดดเดี่ยว


3. แนวคิดเรื่องการตรงต่อเวลา



Photo by Towfiqu barbhuiya on Unsplash

ชาวออสเตรเลียโดยทั่วไปให้ความสำคัญกับความตรงต่อเวลาสูง แต่ก็มีความยืดหยุ่นในบางสถานการณ์ทางสังคม ในขณะที่ชาวไทยอาจมีแนวคิดเรื่องเวลาที่ยืดหยุ่นมากกว่า เลทบ้างสายบ้างนิดหน่อยเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งอาจทำให้เกิดความคาดหวังที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการนัดหมาย


4. รูปแบบการใช้ชีวิตและกิจกรรมยามว่าง

ชาวออสเตรเลียชื่นชอบกิจกรรมและไลฟ์สไตล์กลางแจ้ง เช่น ไปชายหาด เล่นกีฬา และท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะวัฒนธรรมการทำ “Barbie” หรือ บาร์บีคิว ตามจุดต่างๆในสวนสาธารณะ ซึ่งแตกต่างจากวิถีชีวิตของคนไทย ที่มักใช้เวลาอยู่กับครอบครัวหรือทำกิจกรรมในร่มมากกว่า สวนสาธารณะในไทย อาจจะไม่ใช่ที่ที่เราไปใช้เวลาตลอดวันหยุดเหมือนที่นี่

อีกทั้งวัฒนธรรมชาวออสเตรเลียมักให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย และโภชนาการ จะสังเกตว่าเมื่อถึงวันหยุดหรือแม้แต่วันธรรมดาเอง ใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวริมชายทะเล จะพบเห็นชาวออสซี่มาออกกำลังกายพร้อมสัตว์เลี้ยง จนแทบจะเป็นภาพที่เห็นได้ทั้งวันจนคุ้นเคย แม้ว่าวันนั้นเองอากาศจะแย่แค่ไหนก็ตาม ซึ่งอาจแตกต่างจากไลฟ์สไตล์ของคนไทยที่ยังคงมีวิถีการบริโภคอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน ไม่ค่อยทำอาหารเอง


5. เรื่องอาหารการกิน



Photo by Spencer Davis on Unsplash

เพราะเรื่องอาหารคือเรื่องใหญ่ อย่างที่ทราบกันดีว่าอาหารของออสเตรเลียมีความผสมผสาน เพราะเป็นประเทศได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมต่าง ๆ มาตั้งแต่ช่วงอพยพเข้าประเทศ เช่น อังกฤษ อิตาลี กรีก เวียดนาม จีน และอินเดีย ถ้าออกไปทานข้าวนอกบ้านหรือแม้แต่ไปซื้อวัตถุดิบในซุปเปอร์มาร์เก็ต จะสามารถพบเห็นร้านอาหารและวัตถุดิบที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ตรงกันข้ามกับอาหารไทย ที่มีข้าวเป็นองค์ประกอบหลัก โดยมีอาหารหลายเมนูเสิร์ฟควบคู่กัน อีกทั้งต้องมีรสชาติจัดจ้านและมีกลิ่นหอม ใครที่มาช่วงแรกอาจจะสนุกกับการทานอาหารหลากหลายในออสเตรเลีย แต่ในระยะยาวเชื่อว่ามีความคิดถึงอาหารไทยไม่มากก็น้อย



และยังมีอีกหลายประเด็น ที่ทำให้คุณเกิดอาการคัลเจอร์ช็อค เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับบ้านเมืองในออสเตรเลียได้เร็วยิ่งชึ้น
ต่อไปจะมาแนะนำเคล็ดลับเพื่อการยู่ร่วมกับวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เมื่อย้ายไปออสเตรเลีย


1.เปิดใจรับวัฒนธรรมใหม่

มองวัฒนธรรมที่แตกต่างด้วยความอยากรู้อยากเห็นแทนที่จะตัดสิน ยอมรับความแตกต่าง ทำความเข้าใจกับตัวเองว่าทุกสิ่งมีบริบทและคุณค่าของตัวเอง ก็จะช่วยให้คุณปรับตัวได้ดีขึ้น อีกทั้งการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ ต้องใช้เวลา ฝึกความอดทน และอย่ากดดันตัวเองมากเกินไป เข้าใจว่าความรู้สึกสับสนหรือไม่สบายใจในช่วงแรกเป็นเรื่องปกติ


2. ทำความคุ้นเคย ศึกษาวัฒนธรรมออสเตรเลีย



Photo by Naassom Azevedo on Unsplash

เปิดโอกาสตัวเอง ทำความคุ้นเคยกับธรรมเนียมท้องถิ่นหรือสิ่งที่คนในสังคมชอบทำกัน ออกไปสังเกตวิถีชีวิตของชาวออสเตรเลียในสถานการณ์จริง เพื่อการเข้าใจวิธีการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ จะช่วยให้การปรับตัวเป็นไปได้ง่ายขึ้น ไม่ปิดตัวเองอยู่ในพื้นที่คนเดียว

และไม่ลืมที่จะฝึกฝนภาษาอังกฤษในทุกวันให้คล่องแคล่วขึ้น หากเป็นไปได้ควรเรียนรู้ภาษาที่สองก่อนย้ายไปอยู่จริง ไม่ว่าจะศึกษาเพิ่มเติมผ่านแหล่งเรียนรู้ออนไลน์หรือพูดคุยกับเจ้าของภาษาหากมีโอกาส เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการสื่อสาร เพราะภาษาจะอยู่ในชีวิตตลอดทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นนอน ออกไปซื้อของ สั่งอาหาร หรือพูดคุยกับคนแปลกหน้า ซึ่งความมั่นใจนั้นเองจะช่วยให้คุณรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากขึ้น


3. สร้างพื้นที่อยู่อาศัยที่อบอุ่น

เมื่ออยู่ในสังคมภายนอก คุณจำเป็นต้องปรับตัวเองให้เข้ากับผู้คนอย่างเต็มที่ อาจต้องใช้พลังงานเยอะ ทั้งร่างกายและสมองในการคิดประมวณข้อมูล กลับมาที่บ้านอย่าลืมปรับสภาพภายในจิตใจด้วยการตกแต่งบ้านให้น่าอยู่เพื่อลดความตึงเครียด ทำให้ที่พักของคุณรู้สึกอบอุ่นเหมือนบ้านที่คุ้นเคย เริ่มตั้งแต่จัดบ้านให้สะอาด เพิ่มของตกแต่งหรือสิ่งของที่ชื่นชอบส่วนตัว วิธีนี้สามารถช่วยให้คุณรู้สึกสบายใจขึ้นในช่วงปรับตัว ให้สร้างความรู้สึกว่าที่นี่คือที่ของเรา


4. โอบรับสภาพแวดล้อมใหม่ สร้างสังคมใหม่

ใช้เวลาเดินชมเมืองสำรวจสถานที่รอบตัว เยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยว สวนสาธารณะ และย่านต่าง ๆ เพื่อทำความรู้จักกับพื้นที่ หรืออาจทำให้คุณได้ค้นพบพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพักใจของคุณเอง

ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ โดยเฉพาะกับนักเรียนต่างชาติหรือชาวออสเตรเลียที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน การสร้างมิตรภาพใหม่สามารถช่วยให้คุณสามารถลดความรู้สึกโดดเดี่ยว หรือถ้าใครไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ ลองเข้าร่วมกิจกรรมในท้องถิ่น เข้าร่วมชมรมหรือกิจกรรมที่คุณสนใจ เช่น ทีมกีฬา หรือคลาสสร้างสรรค์ต่าง ๆ การทำกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้คุณพบปะผู้คนใหม่ ๆ เรียนรู้และสร้างเครือข่ายสังคมให้กว้างขึ้น โดยคุณสามารถค้นหากิจกรรมที่คุณสนใจได้ ผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเช่นเว็บไซต์ meetup.com, eventbrite.com หรือจะกรุ๊ปหรืออีเวนท์ต่างๆบน Facebook


5. พูดคุยกับคนที่บ้าน ขอความช่วยเหลือหากจำเป็น



Photo by Daria Nepriakhina 🇺🇦 on Unsplash

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดเพื่อลดความเครียดความกังวล คือการติดต่อสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อน ๆ ที่เราคุ้นเคยในไทยอย่างสม่ำเสมอ อย่าลืมที่จะแบ่งปันประสบการณ์และความรู้สึกของคุณเพื่อช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้น การได้รับกำลังใจจากคนใกล้ชิดสามารถช่วยให้คุณผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้

หากความรู้สึกคิดถึงบ้าน มีอาการเครียด เศร้า หรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ลองพูดคุยกับคนใกล้ตัวที่เราไว้ใจ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือเข้าร่วมกลุ่มที่ให้คำปรึกษาเฉพาะสำหรับนักเรียนต่างชาติ

อีกทั้งในการรับมือกับอาการช็อกทางวัฒนธรรม คนไทยหลายคนพบว่าการเชื่อมโยงกับชุมชนชาวไทยในออสเตรเลีย หรือกลุ่มนานาชาติในออสเตรเลียนั้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สิ่งนี้เปรี่ยบเสมือนชุมชนไทย ที่ช่วยให้การปรับตัวง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสในการเรียนรู้และมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมคนไทยในออสเตรเลียให้มากขึ้น


โดยรวมแล้ว แม้ว่าการเผชิญกับความแตกต่างทางวัฒนธรรมอาจเป็นเรื่องท้าทาย แต่ก็เป็นโอกาสที่ดี ในการพัฒนาตนเองและทำความเข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลายได้อย่างลึกซึ้ง การเตรียมตัวทั้งทางจิตใจและในทางปฏิบัติจะช่วยให้คุณปรับตัวได้ง่ายขึ้น และทำให้การใช้ชีวิตในออสเตรเลียเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าและน่าจดจำ