Cover Image by freepik.com

ปี 2024 ปีที่มีความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นในออสเตรเลีย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมมากมาย ไม่ว่าผลกระทบที่ทวีความรุนแรงขึ้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงความก้าวหน้าด้านนโยบายทางสังคม บทความนี้จะสรุปประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นในปีนี้ ว่ามีเหตุการณ์สำคัญอะไรที่ควรรู้และติดตามต่อไป


ประเด็นด้านวีซ่า



Image by freepik.com

การปฏิรูปนโยบายด้านวีซ่าครั้งใหญ่ใน 2024

จากจำนวนผู้อพยพที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในปี ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะปัญหาค่าครองชีพ รวมถึงตลาดที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ ทำให้เกิดการปรับปรุงนโยบายวีซ่าใหม่ ให้เหมาะกับระดับทักษะและรายได้ที่เฉพาะเจาะจง นโยบายที่เกิดชึ้นได้แก่

  • การปรับขึ้นค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับนักเรียนต่างชาติจาก 710 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (473 ดอลลาร์สหรัฐ) เป็น 1,600 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (1,068 ดอลลาร์สหรัฐ)
  • การอนุมัติวีซ่านักเรียนที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ทำให้มีความล่าช้าและเปอร์เซนต์การถูกอนุมัติลดลง เพื่อคัดกรองนักเรียนคุณภาพ
  • ข้อกำหนดด้านภาษาอังกฤษที่สูงขึ้นสำหรับการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย โดยคะแนน IELTS จากขั้นต่ำ 5.5 เป็น 6.0 สำหรับนักเรียนต่างชาติหลักสูตรปรับพื้นฐานภาษา (ELICOS) คะแนนที่กำหนดเพิ่มขึ้นจาก 4.5 เป็น 5.0
  • การเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับวีซ่าผู้สำเร็จการศึกษา (Graduate Visa) ผู้สมัครจะต้องมีอายุต่ำกว่า 35 ปี (ลดลงจากอายุปัจจุบันที่ 50) และระยะเวลาของวีซ่าบัณฑิตชั่วคราวในการขอครั้งแรกจะลดลงเหลือสองปี สำหรับระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโทที่เป็นระบบการเข้าชั้นเรียน (Coursework) และสามปีสำหรับปริญญาโทในระบบการทำวิจัย (Research) นักเรียนในพื้นที่ภูมิภาคจะมีสิทธิ์ได้รับวีซ่าครั้งที่สองเป็นเวลาหนึ่งถึงสองปีขึ้นอยู่กับสถานที่ของพวกเขา เป็นส่วนหนึ่งของการลดจำนวนผู้ถือวีซ่าชั่วคราวในระยะยาว
  • เปิดตัววีซ่าใหม่สำหรับคนงานที่มีทักษะเป็นที่ต้องการ เช่น วีซ่าแรงงานทักษะชั่วคราวใหม่ ที่มีระยะเวลา 4 ปีโดยมีนายจ้างสปอนเซอร์ เปิดโอกาสให้คนงานเปลี่ยนนายจ้างได้มากขึ้น, วีซ่านวัตกรรมแห่งชาติ หรือ National Innovation visa (Subclass 858) วีซ่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดบุคคลที่มีทักษะสูงเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทักษะเฉพาะในออสเตรเลีย อีกทั้งยังเพิ่มโควต้าการยื่นขอวีซ่าทำงานในพื้นที่ภูมิภาคมากขึ้น ดึงดูดให้ย้ายถิ่นฐานออกจากเมืองใหญ่ ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงนโยบายเหล่านี้สะท้อนถึงความพยายามของออสเตรเลียในการจัดการผู้ย้ายถิ่นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และรักษาความสมบูรณ์ของระบบ เพื่อไม่ให้เพิ่มมากจนกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจภายในประเทศ


ประเด็นด้านเศรษฐกิจ



Image by freepik.com

ข่าวดีทางด้านเศรษฐกิจและพลังงาน

ออสเตรเลียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับปานกลาง โดยเฉพาะ GDP ที่สูงขึ้น 0.3% ในไตรมาสเดือนกันยายน ซึ่งถือเป็นไตรมาสที่ 12 ติดต่อกันที่มีการเติบโต อย่างไรก็ตามการเติบโตประจำปี ชะลอตัวลงเหลือ 0.8% ซึ่งเป็นอัตราที่ช้าที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนอัตราเงินเฟ้อรายปียังคงอยู่ที่ 3.5% มีอิทธิพลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการตัดสินใจทางนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยยังคงเป็นปัญหาเร่งด่วน กระตุ้นให้มีการแทรกแซงนโยบายเพื่อสนับสนุนครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและปานกลาง เหตุการณ์ใหญ่ๆที่เกิดขึ้นในปี ได้แก่

  • การถกเถียงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมถ่านหินและพลังงานหมุนเวียน แม้จะมีแรงกดดันจากทั่วโลกให้ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ความต้องการถ่านหินในออสเตรเลียทั่วโลกมีจำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อนโยบายในประเทศและกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับความมั่นคงด้านพลังงาน เทียบกับเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ และความจำเป็นในการลดการปล่อยคาร์บอน อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียก็พัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน มีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมขนาดใหญ่หลายโครงการที่เริ่มดำเนินการ รัฐบาลประกาศเพิ่มการลงทุนในไฮโดรเจนสีเขียวและการจัดเก็บแบตเตอรี่เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตพลังงานที่ยั่งยืนมากขึ้น

  • แผนการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ตลาดพลังงาน LNG ครั้งใหญ่ ระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน Chevron และ Woodside ตกลงแลกเปลี่ยนสินทรัพย์สำคัญในออสเตรเลียตะวันตก เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานน้ำมันและก๊าซ ในข้อตกลงที่มีมูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์ ข้อตกลงนี้ยังคงต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2026 ซึ่งหากแผนธุรกิจนี้เกิดขึ้น อาจเพิ่มการผลิตพลังงาน ส่งผลดีต่อการส่งออก LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ในการส่งออกอยู่แล้ว และส่งผลต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของประเทศในทางบวก


ประเด็นด้านสังคม



Image by freepik.com

ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ใช้สื่อสังคมออนไลน์

หนึ่งในการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับปัญหาการใช้สื่อสังคมออนไลน์ รัฐสภาออสเตรเลียได้ผ่านกฎหมายฉบับแรกของโลก ที่ห้ามเข้าถึงโซเชียลมีเดีย สำหรับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี เพื่อปกป้องเด็ก ๆ จากอันตรายทางออนไลน์ โดยห้ามเปิดใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น TikTok, Instagram, Facebook และ X แม้จะได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองก็ตาม ความรับผิดชอบจะตกอยู่กับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและคณะกรรมาธิการ eSafety ของออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรีแอนโธนี อัลบาเนซีประกาศว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องเด็ก ๆ จากเนื้อหาและอิทธิพลออนไลน์ที่เป็นอันตรายและควบคุมไม่ได้ กฎหมายนี้ได้รับการอนุมัติเมื่อช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้ 12 เดือนหลังจากผ่านกฏหมาย
อย่างไรก็ตามยังมีนักวิจารณ์ รวมถึงนักวิชาการกว่า 140 คน เห็นต่างว่า การห้ามนี้เป็นเครื่องมือที่แข็งกร้าวจนเกินไป และอาจทำให้เกิดผลเสียทางพฤติกรรมและสุขภาพจิตของเด็กด้วยซ้ำ อีกทั้งอาจทำให้เกิดความเครียดจากการบังคับ บริษัทโซเชียลมีเดียให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตาม แต่มีความเห็นว่าการควบคุมการใช้งาน ควรขึ้นอยู่กับผู้ปกครองด้วยเช่นกัน


เหตุการณ์สำคัญของโลก



Image by thenightly.com.au

สรุปเหตุการณ์สำคัญในโอลิมปิก 2024

ผลงานของประเทศออสเตรเลียในการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงปารีสในปี 2024 คือความสำเร็จครั้งสูงสุดที่เกิดขึ้น สามารถคว้าเหรียญไปได้ทั้งหมด 53 เหรียญ มีเหรียญทองได้ 18 เหรียญ, เหรียญเงิน 19 เหรียญ และเหรียญทองแดง 16 เหรียญ ทุบสถิติเดิมที่เคยลงแข่งขัน และจบอันดับที่ 4 ตามหลังสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ความน่าสนใจคือนักกีฬาจากควีนส์แลนด์ มีส่วนสำคัญในการคว้าเหรียญรางวัลให้กับออสเตรเลีย จากเหรียญรางวัลทั้งหมดที่ได้ ชาวควีนส์แลนด์คว้าเหรียญทองมาได้ 12 เหรียญ เหรียญเงิน 9 เหรียญ และเหรียญทองแดง 8 เหรียญ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโครงการพัฒนากีฬาที่แข็งแกร่งขึ้น ต่อมา จะมาสรุปภาพรวมความสำเร็จที่เกิดขึ้น ภายในงานแข่งขันกีฬาระดับโลกประจำปี 2024

  • นักว่ายน้ำชาวออสเตรเลียทำผลงานได้โดดเด่น มีส่วนสำคัญในการคว้าเหรียญรางวัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Ariarne Titmus เงือกสาวชาวบริสเบน สามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันว่ายน้ำฟรีสไตล์ 400 เมตรหญิง ขณะที่ทีมว่ายน้ำผลัดฟรีสไตล์ 4x100 เมตรหญิงก็คว้าเหรียญทองได้เช่นกัน
  • Nina Kennedy นักกีฬาหญิงชาวออสเตรเลียคนแรก ที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกประเภทกระโดดค้ำถ่อ นอกจากนี้ Matthew Denny ยังคว้าเหรียญทองแดงประเภทขว้างจักร นับเป็นเหรียญแรกของออสเตรเลียในประเภทดังกล่าวในรอบ 128 ปี

นอกเหนือจากความสำเร็จที่เกิดขึ้นอีกมากมาย ในงานโอลิมปิกนี้ก็ยังมีประเด็นสังคม ที่ทำให้เกิดข้อวิพากย์วิจารย์จากนักกีฬาชาวออสเตรเลียเช่นกัน
  • นักกีฬาฮอกกี้ชาวออสเตรเลียคนหนึ่ง ถูกจับกุมในปารีสหลังจากถูกกล่าวหาว่าพยายามซื้อโคเคน แม้ว่านักกีฬารายนี้ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหา แต่ได้ออกมาขอโทษต่อสาธารณชน โดยยอมรับว่าครอบครัว เพื่อนร่วมทีม และทีมโอลิมปิกของออสเตรเลียรู้สึกอับอาย
  • ในการเปิดตัวการเต้นเบรกแดนซ์ กีฬาชนิดใหม่ในโอลิมปิก Rachael "Raygun" Gunn ผู้เข้าแข่งขันชาวออสเตรเลีย ได้เป็นตัวแทนของประเทศ ที่มาพร้อมกับท่าเต้นอันแตกต่าง จนกลายเป็นการล้อเลียนกันในวงกว้าง กระทั่งเกิดข้อพิพาททางกฎหมาย อีกทั้งชื่อของเธอยังถูกติดอันดับที่ 3 คำที่ชาวออสซี่ค้นหามากที่สุดในปีนี้ แม้ว่าผลงานของเธอจะก่อให้เกิดการถกเถียงและการหารือเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกก็ตาม แต่การเข้าร่วมของเธอ ได้เน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมของออสเตรเลียกับกีฬาโอลิมปิกรูปแบบใหม่

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม



Image by

วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเผชิญ

ปฎิเสธไม่ได้ว่าโลกกำลังตกอยู่ในวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม จากการที่อุณหภูมิสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย ทำให้เกิดเหตุภัยพิบัติมากมายทั่วโลก หรือแม้แต่การแปรปรวนทางฤดูกาล ในออสเตรเลียเองเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงไม่แพ้ในทวีปอื่น มาดูกันว่าในปีนี้ ออสเตรเลียต้องเผชิญกับสภาวะอากาศรวนในรูปใดบ้าง

  • ช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่าน ออสเตรเลียประสบกับคลื่นความร้อนรุนแรง (Heatwave) ที่ส่งผลกระทบแทบจะทุกพื้นที่ของประเทศ โดยอุณหภูมิสูงเกิน 45 °C ในชุมชนที่มีประชากรอาศัยอยู่หลายแห่ง คลื่นความร้อนส่งผลให้อุณหภูมิในช่วงกลางเดือนธันวาคมสูงขึ้นอย่างมีนัยยะ โดยหลายภูมิภาคมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติตามฤดูกาล 12-16 °C เหตุการณ์ดังกล่าวมีลักษณะทั้งอุณหภูมิในเวลากลางวันที่รุนแรง และสภาพอากาศกลางคืนที่อบอุ่นผิดปกติ โดยหลายพื้นที่มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 30 °C (86 °F) ตลอดทั้งวันและกลางคืน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ความเสี่ยงที่ปลาจะตายในแม่น้ำ Darling และ Menindee Lakes ด้านฝั่งตะวันตกรัฐนิวเซาท์เวลส์ เกิดความกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ที่เคยเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2023 ที่ทำให้ปลาตายประมาณ 30 ล้านตัว รวมถึงความเสี่ยงที่เกิดไฟป่าในหลายพื้นที่
  • จากรายงานสภาวะสิ่งแวดล้อมในปี 2024 สรุปได้ว่าออสเตรเลียมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 1.51°C โดยในช่วง 8 ใน 9 ปีที่ผ่านมา มีอุณหภูมิสูงสุดในประวัติศาสตร์ เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2013 ส่งผลให้ฤดูไฟป่ายาวนานขึ้น และคลื่นความร้อนใต้ทะเล เกิดการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทร ทำให้น้ำมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดสภาพเป็นกรดมากขึ้น ส่งผลให้ระบบนิเวศทางทะเลได้รับผลกระทบอย่างมาก รวมถึงเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวจำนวนมากในแนวปะการัง Great Barrier Reef นอกจากนี้เอง เหตุการณ์ฝนตกหนักมีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีการเพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรือมากกว่าในบางภูมิภาค โดยเฉพาะทางตอนเหนือ
  • ผลการวิจัยของบริษัทประกัน Zurich และ Mandala หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ เผยแหล่งท่องเที่ยวของออสเตรเลียที่สำคัญ 178 แห่ง เทียบเท่าประมาณ 68% กำลังเผชิญความเสี่ยงครั้งใหญ่ เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ในควีนส์แลนด์มีสถานที่ 52% ที่อยู่ในหมวดหมู่ความเสี่ยงสูงสุดจาก 5 หมวดหมู่ ซึ่งมากกว่ารัฐอื่นๆ โดยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียง อันได้แก่ Uluru, ป่าฝน Daintree, ถนน Great Ocean Road และหาด Bondi มีโอกาสที่เผชิญกับภัยคุกคามจากไฟป่า พายุ และน้ำท่วม นอกจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตำแหน่งงานด้านการท่องเที่ยวกว่า 620,000 ตำแหน่ง กำลังจะตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นกัน การวิเคราะห์ดังกล่าวเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วน ในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศของภาครัฐ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของออสเตรเลียและการจ้างงานที่เกี่ยวข้อง เพราะการท่องเที่ยวคือส่วนหนึ่งของรายได้ประเทศ หากสถานที่ท่องเที่ยวเกิดความเสียหาย ก็ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจประเทศในทางตรงและทางอ้อม


ทั้งหมดนี้คือสรุปเหตุการณ์และการพัฒนาสำคัญที่เกิดขึ้นในออสเตรเลียตลอดปี 2024 สะท้อนถึงความสามารถในการฟื้นตัวและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา อีกไม่กี่วันกำลังจะหมดปี ถึงเวลาทบทวนเหตุการณ์ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสิ่งดีๆที่เกิดขึ้น หรือสิ่งที่ต้องพัฒนาเรียนรู้ ได้เวลาตั้งเป้าหมายใหม่ เพื่อเข้าสู่ปี 2025 อย่างมั่นคงและเติบโต

อ้างถึง
en.wikipedia.org
www.sbs.com.au
www.reuters.com
immi.homeaffairs.gov.au
people.com
apnews.com
www.abc.net.au
www.csiro.au
www.theguardian.com