อยากขับรถในบริสเบน เริ่มต้นอย่างไร? (ตอนที่1)

  • 0 ตอบ
  • 2267 อ่าน
*

พา-ลา-เล่น

  • *****
  • 45
  • "พา"คุณไป"ลา" และออกไป"เล่น"ในบริสเบน
    • ดูรายละเอียด



;D ;D สวัสดีปีใหม่ผู้อ่าน ThaiBrisbane ทุกท่าน ;D ;D


      ขอให้ปี 2021 นี้เป็นปีที่ดี ขอให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตั้งใจ ตั้งเป้าหมายอะไรขอให้เป็นไปตามหวังทุกประการล่ะ ในช่วงต้นปีนี้ หลายคนอาจจะมีโอกาสได้หยุดยาวออกไปท่องเที่ยวทั้งรอบตัวเมืองบริสเบนเอง หรือเมืองอื่นกันไป แน่นอนว่าบางสถานที่เอง ระบบขนส่งสาธารณะอาจจะยังไปไม่ถึง ซึ่งทำให้เราพลาดโอกาสได้ออกเดินทางอย่างเราที่ต้องการ ทุกอย่างย่อมมีการเริ่มต้น การขับรถที่นี่ไม่ยากอย่างที่คิด วันนี้ “พา-ลา-เล่น” จะมาบอกเล่าวิธีการขับขี่ยานพาหนะส่วนบุคคล ในบริสเบนและในรัฐ Queensland อย่างถูกกฎหมายและปลอดภัยกัน


ก่อนสตาร์ท...ทำความเข้าใจกับป้ายสัญลักษณ์และกฎระเบียบเบื้องต้นกัน


ที่มา : pixabay

การขับรถบนท้องถนน แน่นอนว่าความปลอดภัย คือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอันดับแรก ซึ่งกฎระเบียบหรือป้ายจราจรต่างๆระหว่างทางเอง ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เรามาเริ่มต้นศึกษาป้ายจราจรที่นี่กันดู ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ได้แก่


ที่มา : www.carsguide.com.au

1. Regulatory Signs
ป้ายบอกทาง และบอกคำสั่งทั่วไป เช่น ห้ามหยุด ห้ามกลับรถ ฯลฯ ซึ่งหลายป้ายเองอาจจะเคยพบเห็นมาบ้างที่ไทยหรือในหลายๆประเทศ เพราะเค้าออกแบบค่อนข้างเป็นสากล

เรื่องการจอดรถในบริสเบน แน่นอนถ้าเราขับรถในเมืองและต้องการแวะจอดเพื่อลงไปทำธุระหรืออะไรก็แล้วแต่ ควรมองหาป้ายตัวอักษร “P” ที่ตั้งอยู่ริมทาง ซึ่งสามารถจอดได้ไม่จำกัดชั่วโมง แต่ถ้าป้ายไหนมีตัวเลขด้านหน้าหมายถึงจำนวนชั่วโมงที่สามารถจอดได้นานที่สุด เช่น “2P" คือจอดรถได้ 2 ชั่วโมง เป็นต้น


ที่มา : www.sbs.com.au

2. Road Warning Signs
ป้ายเตือนบนท้องถนน พบเห็นได้ ทั้งในเมือง, นอกเมือง, ทางรถไฟ หรือพื้นที่ๆใกล้กับโรงเรียน ชุมชน โดยป้ายบางประเภทจะสามารถพบเห็นได้แค่ประเทศออสเตรเลียเท่านั้น จึงทำให้ป้ายเหล่านี้ กลายเป็นลวดลายบนสินค้าของฝากของที่ระลึก เช่น ป้ายระวังจิงโจ้ โคอะล่า หรือจะวอมแบท ก็มีเช่นกัน


3. Hazard Markers
สัญลักษณ์บอกทางในพื้นที่อันตราย ให้เพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น เช่น ทางเลี้ยวโค้ง


ที่มา : infrastructuremagazine.com.au



4. Traffic Instruction Signs
ป้ายบอกเส้นทางจราจร โดยเฉพาะบนถนนเส้น Motorway จะพบเห็นป้ายจำพวกนี้

5. Tourist Attraction and Drive Signs
ป้ายที่พบเห็นได้ตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหรืออุทยานแห่งชาติ

6. Route marker signs
ป้ายระบุเส้นถนนหรือตำแหน่ง พบเห็นได้บนถนนนอกเมือง เช่น ป้ายตำแหน่งกิโลเมตร, ป้ายชื่อถนนทางหลวง ฯลฯ


ที่มา : www.wayfound.com.au


7. Service and Community Facilities Signs
ป้ายระบุบริการ, สาธารณูปโภค เวลาที่เราออกเดินทางไปเที่ยวนอกเมือง โดยเฉพาะไปในเส้นทางธรรมชาติ จะมีป้ายบอกการใช้งานพื้นที่ เช่น จุดกางเต๊นท์, จุดแวะพัก หรือจุดเติมน้ำมัน


ที่มา : www.standard.net.au


8. Roadwork Signs
ป้ายชี้แจงการซ่อมแซมถนน ให้ผู้ขับระมัดระวังทาง ควบคุมความเร็ว และเบี่ยงไปใช้ทางที่กำหนด

      แม้ว่าป้ายทั้งหมดจะมีจำนวนมากมายนับร้อยแบบ แต่เราไม่จำเป็นต้องจดจำทั้งหมดหรอก เพราะป้ายส่วนใหญ่เราสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย หากเราคุ้นชินกับการขับรถมาก่อนหน้านี้นะ สำหรับเราถือว่าสบายมากเลย แค่ต้องชะลอความเร็วนิดหน่อยเพื่ออ่านให้ทัน (แต่ก็มีแอบหลงทางบ้างเป็นทางที  :P)


ที่มา : pixabay

      หลังจากเรียนรู้ป้ายกันเรียบร้อยแล้ว มาปรับเกียร์ D และเริ่มต้นขับรถบนถนนกัน... การขับรถที่นี่ บอกเลยว่าไม่ยากอย่างที่คิด ขับฝั่งซ้ายเหมือนกับที่ประเทศไทย ใครที่คุ้นชินกับการจราจรในกรุงเทพฯแล้ว ขอบอกเลยว่าขับรถยนต์ที่นี่...จิ๊บๆ ด้วยกฎระเบียบจราจรที่เข้มงวดและชัดเจน ทั้งป้ายบอกทาง, ไฟจราจร, เส้นแบ่งถนน ฯลฯ ซึ่งการขับในเมืองนั้น สิ่งที่ต้องควบคุมอันดับแรกคือการควบคุมความเร็ว จะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา สอดส่องให้ดีก่อนว่ามีไฟจราจรมั้ย หรือมีทางม้าลายให้คนข้ามหรือเปล่า เปิดไฟเลี้ยวทุกครั้งและเมื่อขับออกไปเส้นทางนอกเมือง สิ่งสำคัญที่อาจจะแตกต่างกับการขับรถที่ไทย คือที่นี่ขับเลนซ้ายเสมอแม้ว่าจะขับตามความเร็วที่กำหนด จะออกเลนขวาได้ต่อเมื่อต้องการแซงคันหน้าหรือมีสิ่งกีดขวางทางช่องทางซ้าย ไม่ขับแช่เลนขวาเมื่อไม่จำเป็น





      หากวันใดวันหนึ่ง เราถูกตำรวจเรียกให้จอด ในฐานะผู้ขับขี่ ควรหยุดจอดข้างทางและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ซึ่งเหตุผลที่ขอให้เรียกตรวจ มีได้ตั้งแต่ การสุ่มตรวจปริมาณแอลกฮอลล์, มีพฤติกรรมน่าสงสัย/ กระทำการผิดกฎจราจร หรือสอบถามเรา ในฐานะ (ผู้อาจเป็น) พยานในเหตุการณ์บางอย่าง สิ่งที่จำเป็นเมื่อเราถูกเรียก คือการยืนยันความถูกต้องในการขับขี่ด้วย “ใบขับขี่” ของเรานั่นเอง ดังนั้นพกติดตัวเสมอ ว่าแต่....เราเพิ่งมาอยู่ได้ไม่นาน ขับรถนิดหน่อยเอง มีแต่ใบขับขี่ที่ไทย ใช้งานที่นี่ได้หรือเปล่านะ?





ถือแค่ใบขับขี่ประเทศไทย/ ใบขับขี่สากล...ก็ขับรถในออสเตรเลียได้ จริงหรือไม่?



ที่มา : unsplash.com

      คำถามสุดคลาสสิคกันเลยทีเดียว สำหรับการใช้งานใบขับขี่ที่ออกในประเทศไทยและใบขับขี่สากล (ที่ออกในประเทศไทย) หลายคนก่อนเดินทางมาที่นี่อาจจะได้ทำเจ้าใบขับขี่สองใบนี้กันไปแล้ว แล้วเราไม่ต้องกังวลเลยกับการเริ่มต้นขับรถที่นี่เพราะขับง่าย และขับฝั่งเดียวกันกับเรา แล้วการที่หิ้วเจ้าบัตรหนึ่งหรือสองใบนี้มาบริสเบนนั้นขับรถได้อย่างถูกกฎหมายหรือไม่...คำตอบคือ “ได้” ซึ่งสามารถขับรถไปมาได้ทุกรัฐ ยกเว้นรัฐ Northern Territoryโดยใบขับขี่ไทยของเรา ต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือ



1. ใบขับขี่ต้องไม่หมดอายุ

2. หน้าบัตรมีภาษาอังกฤษกำกับอย่างถูกต้อง (ซึ่งใบขับขี่ไทยแบบใหม่ ตอบโจทย์ตรงนี้กันอยู่แล้ว)

3. ขับขี่ยานพาหนะที่กำหนดไว้บนบัตรเท่านั้น (เช่น ได้ใบขับขี่รถยนต์แต่มาขับรถมอเตอร์ไซค์ที่นี่ไม่ได้นะ)
4. ใบขับขี่ประเทศไทย (หรือต่างประเทศ) จะใช้งานไม่ได้ที่นี่ ตราบเมื่อเราได้รับใบขับขี่จาก Queensland แล้ว


5. ใบขับขี่ประเทศไทย (หรือต่างประเทศ) จะใช้งานไม่ได้ที่นี่ ตราบเมื่อเราถือ Resident Visa (ซึ่งเป็นวีซ่าถาวร) และพักอาศัยใน Queensland เกิน 3 เดือน 




อ่านจบแล้ว หลายคนคงสบายใจในการเริ่มต้นขับรถกันไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะโอกาสที่ได้เช่ารถเพื่อขับไปเที่ยวในวันหยุดยาว แต่เรื่องราวของการขับรถในบริสเบนยังไม่จบ ในบทความต่อไป “พา-ลา-เล่น” จะพาไปรู้จักวิธีการขอใบขับขี่ที่นี่ มาดูกันว่าจะยุ่งยากซับซ้อนแค่ไหนกัน

อ้างถึง
ขอบคุณข้อมูล

https://www.qld.gov.au/transport/safety/rules

https://www.qld.gov.au/transport/safety/signs

https://www.qld.gov.au/law/crime-and-police/being-arrested-and-police-custody/being-stopped

https://info.australia.gov.au/information-and-services/transport-and-regional/driving-with-an-overseas-licence

https://www.qld.gov.au/transport/licensing/driver-licensing/overseas/driving