เที่ยวทะเลอย่างปลอดภัยในออสเตรเลีย

  • 0 ตอบ
  • 20 อ่าน
*

พา-ลา-เล่น

  • *****
  • 45
  • "พา"คุณไป"ลา" และออกไป"เล่น"ในบริสเบน
    • ดูรายละเอียด




ชาวออสซี่นั้นเติบโตมากับทะเล คำนี้อาจไม่เกินจริง เพราะพวกเขาใช้เวลาอยู่บริเวณชายหาดและทะเลแทบจะทุกฤดูกาล ไม่ว่าจะมาเดินเล่น ออกกำลังกาย พาเด็กๆและครอบครัวมาพักผ่อน หรือจะไปว่ายน้ำตื้น ดำน้ำลึก หรือจะโต้คลื่น ประกอบกับช่วงต้นปีในประเทศออสเตรเลียคือฤดูกาลการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวทะเล ชายหาด หรือถึงเกาะต่างๆที่มีเป็นจำนวนมาก เพราะในออสเตรเลียมีชายหาดมากกว่า 10,000 แห่ง ยิ่งช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมากจนเกินไป สามารถไปสัมผัสประสบการณ์อันน่าทึ่งได้ในทุกมุมของประเทศ



Photo by Pexels from Pixabay


สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเกิดจากสภาพแวดล้อมรวมถึงสัตว์อันตราย บทความนี้เราจะมาเตือนภัยให้ตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงที่อาจจะพบเจอ ในการเที่ยวทะเลในออสเตรเลีย เพื่อให้ทริปของคุณปลอดภัยและได้เพลิดเพลินกับวันหยุดได้อย่างเต็มที่


สิ่งควรพึงสังเกตก่อนลงเล่นทะเล



Photo by Federico Giampieri on Unsplash


      แม้ว่าการเที่ยวชายหาดจะดูปลอดภัยกว่าลงไปใต้ทะเลลึก หารู้ไม่ว่ามีอันตรายที่ซ่อนตัวอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว เริ่มต้นจาก แสงแดด สิ่งที่ใครหลายคนอาจมองข้าม หากเราอยู่ใต้แสงแดดระยะเวลานาน นอกจากผิวเราจะคล้ำลงแล้วอาจจะเกิดภาวะผิวไหม้ แสบร้อน หรือหากสะสมเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงที่เกิดมะเร็งผิวหนังเช่นกัน

สิ่งที่ขาดมือไม่ได้เลยเวลาออกไปกลางแจ้ง นั่นคือ ครีมกันแดด ควรเลือกครีมกันแดดที่เหมาะกับสภาพผิวของเรา แนะนำ SPF 30 เป็นต้นไป ถึงแม้ในวันจะมีเมฆปกคลุมก็ตาม แต่รังสี UV นั้นไม่เคยปราณีผิว เมื่อปกป้องผิวจากแสงแดดแล้ว อย่าลืมเติมความชุ่มชื่นให้กับร่างกายด้วยการดื่มน้ำบ่อยๆ  เพื่อลดโอกาศการเกิด Heatstroke (โรคลมร้อน) อย่างไรก็ดี ควรสังเกตร่างกายตัวเอง หากมีภาวะหน้ามืดหรือรู้สึกไม่สบายตัว รีบเข้าหาที่ร่มและจิบดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ



Photo by Oliver Sjöström on Unsplash


   เมื่อใจพร้อมจะลงทะเลแล้ว เพื่อความปลอดภัยควรจะมีเพื่อนลงไปทะเลด้วยกัน เพราะหากเกิดเหตุอันตราย อย่างน้อยยังมีคนที่สามารถช่วยเหลือได้ ไม่แนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มมึนเมาหรือท้องอิ่มก่อนลงทะเล เพราะนอกจากร่างกายอาจจะไม่มีแรงในการพยุงตัวเองออกมาจากน้ำได้ อาจจะเกิดภาวะขาดสติ ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลง อีกทั้งควรมองหาป้ายข้อมูลตรงทางเข้าชายหาด (ป้ายที่หลายคนอาจมองข้าม แม้แต่คนพื้นที่เอง) ซึ่งที่บนอธิบายให้คุณทราบถึงสิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำบริเวณชายหาด



Photo by lifeguards.com.au


ก่อนจะลงทะเลหาดไหน โปรดลงเล่นในพื้นที่ที่ปักธงสีแดง-เหลือง เพราะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เหมาะกับการเล่นน้ำแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่มี Lifeguard หรือเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือบริเวณริมชายหาด  นอกจากเราจะสามารถขอความช่วยเหลือได้ หากเจ้าหน้าที่เจอสัตว์อันตราย หรือสภาพคลื่นที่ไม่ปลอดภัย พวกเขาจะประกาศกับผู้คนที่อยู่ในบริเวณ และยังมีธงประเภทอื่น ที่ตั้งไว้เพื่อแจ้งถึงสถานะให้ทราบเช่น การปักธงแดงทั้งผืน หมายความว่านี่ไม่ใช่พื้นที่ว่ายน้ำ, หากปักธงตารางแดง-ขาว หมายถึง ให้ขึ้นจากน้ำโดยเร็ว, ธงตารางขาว-ดำ คือพื้นที่สำหรับเล่น Surf คนเล่นน้ำทะเลต้องระมัดระวัง เป็นต้น



Photo by beachsafe.org.au


      ใครที่คุ้นเคยกับการเที่ยวทะเลในประเทศไทยเป็นอย่างดี อย่าริเปรียบเทียบคลื่นทะเลของออสเตรเลีย เพราะคลื่นที่นี่นั้นรุนแรงกระแทกตัวทำเอามึนได้ แต่ก็เป็นสวรรค์ของนักโต้คลื่นโดยเฉพาะ หากเป็นคนว่ายน้ำไม่แข็งแรง โปรดเล่นทะเลในออสเตรเลียย่างระมัดระวัง หากกำลังอยู่ในทะเลและเกิดเป็นตะคริวขึ้นมา อันดับแรกขอให้ใจเย็นๆ อย่าตระหนก ลองขยับแขนขาอื่นๆ ต่อไป เพื่อให้ลอยอยู่ในน้ำได้ หากอยู่ใกล้น้ำตื้นให้ลองยืนขึ้นและยืดตัว หากไม่ไหว ยกแขนข้างหนึ่งขึ้นเพื่อขอความช่วยเหลือ เมื่อคุณกลับถึงฝั่งอย่างปลอดภัยแล้ว อย่าลืมดื่มน้ำเยอะๆทันที


เตรียมพร้อมสำหรับการดำน้ำลึกใต้ท้องทะเล



Photo by  Sebastian Pena Lambarri on Unsplash


      ในควีนส์แลนด์ บริเวณ Great Barrier Reefคือสวรรค์ของนักดำน้ำลึกที่ใต้ทะเลคือโลกอีกใบของอาณาจักรสิ่งมีชีวิต หากคุณเป็นมือใหม่หัดดำน้ำ แน่นอนว่าคงไม่สามารถลงไปได้ง่ายๆ นอกจากต้องมีอุปกรณ์ที่พร้อมและปลอดภัยแล้ว ยังจำเป็นต้องเรียนหรือสอบ เพื่อผ่านเกณฑ์ทักษะก่อนการลงใต้น้ำจริง และปฏิบัติตามคำแนะนำด้านความปลอดภัยในการดำน้ำลึก เพื่อประสบการณ์ใต้น้ำที่ปลอดภัยและสนุกสนานในแหล่งดำน้ำที่น่าตื่นตาตื่นใจ

ก่อนที่คุณจะดำน้ำ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณมีใบรับรองการดำน้ำที่ถูกต้องจากองค์กรที่ได้รับการยอมรับ เช่น PADI หรือ SSI ในออสเตรเลีย ตอบแบบสอบถามทางการแพทย์หรือปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแข็งแรงพอที่จะดำน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณมีอาการป่วยอยู่ก่อน
ต่อมา เลือกผู้สอนดำน้ำที่มีประวัติความปลอดภัยที่ดีและมีประสบการณ์ซึ่งคุ้นเคยกับแหล่งดำน้ำในท้องถิ่น เพราะเขาสามารถวางแผนการดำน้ำของคุณกับเพื่อนของคุณและผู้นำการดำน้ำล่วงหน้า ซึ่งควรรวมถึงความลึก เวลา ขีดจำกัดการใช้อากาศที่เหมาะสม
ที่สำคัญ อย่าลืมตรวจสอบสภาพอากาศ กระแสน้ำและทัศนวิสัยก่อนออกเดินทาง อย่าลังเลที่จะยกเลิกการดำน้ำหากสถานการณ์ดูไม่ปลอดภัย



Photo by Paxton Tomko on Unsplash


ในวันออกไดร์ฟ โปรดพักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำเพียงพอ เพราะหากเกิดอาการเหนื่อยล้า หรือขาดน้ำ อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของคุณและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เมื่อร่างกายพร้อม ถึงเวลาตรวจสอบอุปกรณ์ดำน้ำทั้งหมดของคุณอีกครั้งและให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ทำงานได้อย่างถูกต้อง
ตลอดเวลาที่อยู่ใต้น้ำ อยู่ใกล้กับบัดดี้เสมอ สื่อสารเป็นประจำโดยใช้สัญญาณมือหรือคอมพิวเตอร์ดำน้ำ และอย่าลืมที่จะเคารพชีวิตใต้ท้องทะเล รักษาระยะห่างจากสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล และหลีกเลี่ยงการสัมผัสแนวปะการัง


สัตว์ร้าย อันตรายใต้ทะเล



      อันตรายที่นอกเหนือจากสภาพแวดล้อม นั่นคือสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้ท้องทะเล ที่หลายคนอาจมองข้าม ยกตัวอย่างเช่น แมงกะพรุนกล่อง (Box Jellyfish) ที่พบเจอได้บริเวณชายฝั่ง หากถูกแมงกะพรุนต่อย ให้ใจเย็นๆ คุณจะรู้สึกแสบทันที การต่อยอาจใช้เวลานานถึง 30 นาที ขึ้นอยู่กับการทนความเจ็บปวดแต่ละคน อย่าลืมแจ้งเตือน Lifeguard ใกล้ตัวของคุณ เพื่อแจ้งให้นักว่ายน้ำคนอื่นๆ ทราบและรับความช่วยเหลือ หากต้องการกำจัดเหล็กใน (หรือหนวดของแมงกะพรุน) ให้ใช้ปลายนิ้วส่วนที่เป็นผิวหนังแข็งขูดออกจากผิวหนัง ไปที่ห้องอาบน้ำฝักบัวที่ใกล้ที่สุดแล้วเทน้ำอุ่นลงบนเหล็กไน ระวังอย่าสัมผัสใบหน้าหรือผิวหนัง เพราะเหล็กไนอาจติดอยู่บนนิ้วของได้



Photo by abc.net.au


หนึ่งในเพชฌฆาตใต้ท้องทะเล หมึกสายวงน้ำเงิน หรือเรียกกันสั้นๆว่า หมึกบลูริง (Blue-ringed Octopus) เรียกได้ว่า เป็น มีพิษรุนแรงกว่างูเห่า ชอบซ่อนตัวอยู่ตามซอกหินใต้พื้นทราย หรือบางครั้งก็ถูกเกยตื้นขึ้นหาด ด้วยปากของมันที่มีพิษรุนแรงถึงอัมพาต ผู้ถูกกัดอาจเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง วิธีสังเกตตัวหมึกคือมีวงสีฟ้ากระจายรอบตัว สุดท้ายคือ ปลากระเบน ความอันตรายของมันอยู่ที่หาง หากพบเจอ สัตว์ทั้งสามประเภทนี้ โปรดว่ายออกห่างให้เร็วที่สุดและแจ้ง Lifeguard ให้ทราบ เพื่อแจ้งนักว่ายน้ำในบริเวณ

หากมีโอกาสไปว่ายในน้ำจืดหรือบึง โปรดระมัดระวังจระเข้ สัตว์อีกหนึ่งชนิดที่มีความอันตรายและดุร้าย มักพบเจอทางตอนเหนือของควีนส์แลนด์ มองหาป้ายความปลอดภัย และห้ามว่ายน้ำในแม่น้ำ ปากแม่น้ำ ชายฝั่งป่าชายเลน หรือแอ่งน้ำลึก เพราะมีความเสี่ยง เพื่อความปลอดภัย หากต้องล่องเรือบนแม่น้ำ ลำธาร อย่าลืมที่จะใส่เสื้อชูชีพ



Photo by Gerald Schömbs on Unsplash


อีกภาพอันน่ากลัวของการว่ายน้ำทะเลที่มักเจอในภาพยนตร์ นั่นคือฉากการหนีฉลามที่เข้ามาจู่โจม ในความเป็นจริงที่ออสเตรเลียการโจมตีของฉลามนั้นเกิดขึ้นได้ยากมากสุดๆ และชายหาดหลายแห่งก็มีตาข่ายดักฉลามไว้ป้องกันฉลามไว้อยู่ดี อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในเวลาพลบค่ำ ในปากแม่น้ำ และนอกชายฝั่งอันไกลโพ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น


ออสเตรเลียมีจุดว่ายน้ำและพื้นที่ให้โต้คลื่นได้น่าทึ่งแห่งหนึ่งในโลก นอกจากความสวยงามแล้ว ความปลอดภัยเอง เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ออสเตรเลียเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของผู้คนที่หลงไหลท้องทะเล อยากแวะเวียนมาสัมผัสเและเพลิดเพลินกับชายหาดที่สวยงามอย่างไร้ความกังวล

อ้างถึง
insiderguides.com.au

australia.com

beachsafe.org.au
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13/03/2024 00:03 โดย พา-ลา-เล่น »